การเปลี่ยนผ่านสู่โทรทัศน์ระบบดิจิตอล
กิจการโทรทัศน์นั้นถือได้ว่าเป็นกิจการที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นสื่อที่มีอิทธิพลต่อประชาชนในหลายด้าน อาทิ ความคิด ความเชื่อ พฤติกรรม และการใช้ชีวิต การเปลี่ยนไปสู่โทรทัศน์ระบบดิจิตอลจึงส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน จากความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่หลายหลายมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดการพัฒนาทางด้านความเป็นอยู่ ความคิด ความเข้าใจต่อสังคมภายนอก และมีโอกาสที่จะเลือกในสิ่งที่ตรงกับความต้องการของตนเองมากยิ่งขึ้น แต่เดิมจนถึงปัจจุบันประเทศไทยมีการส่งสัญญาณโทรทัศน์แบบภาคพื้นดิน หรือ Terrestrial Broadcasting ระบบแอนะล็อก (Analog) โดยส่งคลื่นความถี่ผ่านอากาศ ไปยังเสาหนวดกุ้งหรือก้างปลาตามที่อยู่อาศัยของประชาชน ในกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 3 ยุค (Generation) คือ ยุคที่ 1 ยุคโทรทัศน์ขาว-ดำ (พ.ศ. 2490 – 2510) ยุคที่ 2 ยุคโทรทัศน์สี (พ.ศ.2510 – 2555) และยุคที่ 3 คือ ยุคโทรทัศน์ระบบดิจิตอล ซึ่งในยุคกิจการโทรทัศน์ระบบดิจิตอล หรือ ยุคที่ 3 นี้ได้มีการเปลี่ยนโครงสร้างการประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ โดยจะมีการประกอบกิจการที่แยกออกจากกันระหว่างผู้ผลิตรายการ ผู้ให้บริการโทรทัศน์ (ช่องรายการ) ผู้ให้บริการโครงข่าย ผู้ให้บริการลูกค้า และสิ่งอำนวยความสะดวก แตกต่างจากยุคที่ 1 และ 2 ซึ่งมีเพียงผู้ผลิตรายการ และผู้แพร่เสียงแพร่ภาพไปยังผู้ชมผ่านทางสถานีโทรทัศน์ เท่านั้น โทรทัศน์ระบบดิจิตอล หรือดิจิตอลทีวี คืออะไร การส่งสัญญาณโทรทัศน์แบบภาคพื้นดิน ระบบแอนะล็อก ของไทยทุกวันนี้ มีการออกอากาศอยู่เพียง 6 ช่องรายการ ได้แก่ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (สทท./NBT) และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (TPBS) เนื่องจากการส่งสัญญาณโทรทัศน์หนึ่งช่อง ต้องใช้ช่วงคลื่นกว้าง แต่หากใช้เทคโนโลยีโทรทัศน์ระบบดิจิตอลนั้น จะมีการบีบอัดสัญญาณ (Digital Compression) ทำให้ใน 1 ช่องความถี่ (8 MHZ) ตามแบบแอนะล็อกเดิม จะใช้ออกอากาศได้ถึง 10-15 ช่องในระบบดิจิตอลในความคมชัดปกติ นับว่าเป็นการใช้คลื่นความถี่วิทยุมาอย่างมีประสิทธิภาพขึ้นมาก เมื่อเทียบกับระบบแอนะล็อก อีกทั้งโทรทัศน์ระบบดิจิตอล ยังมีคุณภาพของสัญญาณที่ดีขึ้น ภาพจะคมชัดเสมอ อัตราการถูกรบกวนน้อย ไม่มีคลื่นแทรก หรือการสะท้อน รวมไปถึงการรับชมที่ชัดเจนแม้ขณะอยู่ในพาหนะเคลื่อนที่ก็ตาม แต่กรณีที่เป็นจุดอับสัญญาณจะไม่สามารถรับภาพใดๆ ได้เลย ซึ่งแตกต่างจากระบบแอนะล็อก ที่จะเกิดภาพหิมะตกหรือภาพทับซ้อนในจุดที่สัญญาณอ่อน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของโครงข่ายในกิจการโทรทัศน์ระบบดิจิตอล ดังนั้น กสทช. จึงได้ผลักดันให้มีการขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมเพียงพอสำหรับการให้บริการ เพื่อขจัดปัญหาการมีจุดอับสัญญาณดังกล่า มาตรฐานโทรทัศน์ระบบดิจิตอลที่ประเทศไทยเลือกใช้ หนึ่งในประเด็นสำคัญของการเปลี่ยนผ่านระบบโทรทัศน์จากแอนะล็อกสู่ระบบดิจิตอล คือการเลือกใช้มาตรฐานเทคโนโลยี ที่ปัจจุบันในโลกมีมาตรฐานเทคโนโลยีโทรทัศน์หลักถึง 4 มาตรฐาน แต่ละมาตรฐานต่างมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไป ดังนั้นการพิจารณาเลือกมาตรฐานเทคโนโลยีโทรทัศน์ระบบดิจิตอลของไทยในครั้งนี้จึงเป็นประเด็นที่ต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบและถี่ถ้วน ทั้งประเด็นเชิงประสิทธิภาพทางเทคโนโลยี เชิงประสิทธิภาพทางเศรษฐศาสตร์ และที่สำคัญที่สุดคือความสอดคล้องกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้ จากการพิจารณาและคัดเลือกโดย กสทช. มาตรฐานกิจการโทรทัศน์ระบบดิจิตอลของประเทศไทยที่ได้รับการเลือกใช้ คือ มาตรฐาน DVB-T2 (Second Generation Digital Terrestrial Television Broadcasting System) โดยคัดเลือกจากการพิจารณาในสามประเด็นหลัก ดังนี้ 1.ประสิทธิภาพเชิงเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งมาตรฐาน DVB-T2 ได้รับการพัฒนาจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมจากทวีปยุโรป ดังนั้นมาตรฐาน DVB-T2 จึงเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าเป็นมาตรฐานที่จะมีประสิทธิภาพสูงสุดในอนาคตอีกยาวนาน และทำให้ทรัพยากรคลื่นความถี่ที่มีอยู่จำกัดสามารถที่จะรองรับจำนวนผู้ประกอบการได้มากขึ้น จากที่คลื่นความถี่วิทยุเดิมสามารถส่งได้เพียงหนึ่งช่องรายการเท่านั้นสามารถนำมาใช้ส่งได้มากถึง 10-15 ช่องรายการด้วยคุณภาพที่ดีขึ้นอีกด้วย 2. ประสิทธิภาพทางเศรษฐศาสตร์ หากประชาชนจำเป็นที่จะต้องรับภาระในการจัดหาอุปกรณ์ภาครับโทรทัศน์ระบบดิจิตอล ในฐานะภาครัฐที่มีอำนาจในการเลือกมาตรฐานจึงควรเลือกมาตรฐานที่ประชาชนมีภาระน้อยที่สุด ดังนั้น การเลือกมาตรฐานที่ประชากรส่วนใหญ่ของโลกเลือกใช้จะส่งผลให้เกิดการผลิตอุปกรณ์เป็นจำนวนมากซึ่งจะทำให้เกิดความประหยัดเชิงขนาด (Economy of Scale) และทำให้ราคาอุปกรณ์ของมาตรฐานนั้นๆ มีราคาลดลง ซึ่งจากการพิจารณาข้อมูลที่เกี่ยวข้องพบว่ามาตรฐาน DVB-T2 เป็นมาตรฐานที่จำนวนประเทศประกาศรับรองมากที่สุด อาทิ ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศอินเดีย และประเทศรัสเซีย เป็นต้น 3. ความสอดคล้องกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าการเปลี่ยนผ่านกิจการโทรทัศน์ไปสู่ระบบดิจิตอลเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นประเทศต่างๆในภูมิภาคอาเซียนต่างมีความจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนผ่านเช่นกัน และประเทศต่างๆเหล่านั้นต่างก็มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาเลือกมาตรฐานโทรทัศน์เช่นเดียวกับประเทศไทย ดังนั้นรัฐบาลของประเทศต่างๆจึงมีแนวคิดที่ร่วมกันพิจารณาให้ประเทศต่างๆภายในภูมิภาคอาเซียนเลือกใช้มาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพทางเศรษฐศาสตร์ตามที่กล่าวมาในข้างต้น นอกจากนั้นแล้วยังเป็นการสนับสนุนการค้าภายในภูมิภาคอีกด้วย ดังนั้นที่ประชุมรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียน (ASEAN Ministers Responsible for Information : AMRI) ในปี 2555 มีความเห็นร่วมกันให้ใช้มาตรฐาน DVB-T2 เป็นมาตรฐานโทรทัศน์ระบบดิจิตอลของภูมิภาคอาเซียน ร่วมกัน มาตรฐานโทรทัศน์ระบบดิจิตอลดังกล่าวได้ถูกเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2555 รับทราบมติคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ในการประชุม ครั้งที่ 16/2555 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2555 เกี่ยวกับการรับรองมาตรฐาน DVB-T2 เป็นมาตรฐานโทรทัศน์ระบบดิจิตอลภาคพื้นดินของไทย ระยะเวลาการเริ่มโทรทัศน์ระบบดิจิตอลในประเทศไทย แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ พ.ศ. 2555 ได้กำหนดให้มีการเริ่มต้นการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลภายใน 4 ปี นับแต่วันที่แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ใช้บังคับเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2555 และตามแผนแม่บทกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 1 ซึ่งมีกรอบการดำเนินงานอยู่ในช่วงระหว่างปี 2555-2559 ยุทธศาสตร์การเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ได้มีการกำหนดระยะเวลาในการดำเนินงาน อาทิ ให้มีการเริ่มรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ภายใน 4 ปี มีมาตรการส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาการผลิตอุปกรณ์รับสัญญาณวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ภายใน 3 ปี มีมาตรการส่งเสริมสนับสนุนอุปกรณ์รับสัญญาณวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลสำหรับผู้มีรายได้น้อยภายใน 3 ปี และมีจำนวนครัวเรือนในเมืองใหญ่ที่สามารถรับสัญญาณวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ภายใน 5 ปี กระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่โทรทัศน์ระบบดิจิตอล ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา กสทช. ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่การศึกษาวิจัยเพื่อเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และการวางแผนการใช้คลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อประเทศ และได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบของใบอนุญาตผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่รองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิตอล โดยได้จัดทำประกาศ กสทช. เรื่อง กำหนดลักษณะและประเภทของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อใช้เป็นกรอบในการพิจารณาอนุญาตการประกอบกิจการ รวมถึงการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จากกรอบแนวทางลักษณะและประเภทกิจการจึงสามารถนำไปสู่กระบวนการจัดการด้านการออกใบอนุญาตกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ได้ ซึ่งในประกาศดังกล่าวได้กำหนดลักษณะของการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เป็น 4 ลักษณะ ได้แก่ การให้บริการโครงข่าย การให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวก การให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ และการให้บริการแบบประยุกต์ แสดงได้ดังแผนภาพ กระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่โทรทัศน์ระบบดิจิตอล แบ่งออกได้เป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงก่อนการเปลี่ยนผ่าน ช่วงเปลี่ยนผ่าน และช่วงหลังการเปลี่ยนผ่าน สามารถสรุปได้ดังแผนภา ทั้งนี้ กสทช. ได้กำหนดกรอบนโยบาย แนวทาง ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล โดยได้ประกาศการเริ่มการเปลี่ยนผ่านระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์เป็นระบบดิจิตอลของประเทศไทยแก่สาธารณะไปแล้วเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2555 เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไปรับทราบถึงทิศทางและแนวทางการดำเนินการ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เตรียมความพร้อม การยุติการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อก ในปี พ.ศ. 2558 กสทช. จะเริ่มพิจารณาจัดทำแผนการยุติการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อก (Analogue Switch-Off : ASO) พร้อมทั้งการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ที่ได้คืนจากการยุติระบบแอนะล็อก (Digital Dividend) โดยการพิจารณาจัดทำแผนการยุติฯ นั้น จะคำนึงถึงความพร้อมของประชาชน ผู้ประกอบกิจการ และประเทศโดยรวม รวมถึงกรอบระยะเวลาในการยุติของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ที่ได้กำหนดช่วงเวลายุติการออกอากาศโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อก อยู่ภายในช่วงระหว่างปี 2558-2563 การออกประกาศ มาตรการ หลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่โทรทัศน์ระบบดิจิตอล ของ กสทช. ที่ได้ดำเนินการแล้ว 1.กำหนดกรอบนโยบาย แนวทาง ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล
การออกประกาศ กสทช. เรื่อง แผนการเปลี่ยนระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์เป็นระบบดิจิตอล ซึ่งเป็นการกำหนดนโยบายและกรอบเวลาสำหรับใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการเปลี่ยนระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์จากระบบแอนะล็อกไปสู่ระบบดิจิตอล2.จัดเตรียมความถี่วิทยุสำหรับกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล
เพื่อให้ความถี่วิทยุสำหรับกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลมีการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ ปราศจากการรบกวนซึ่งกันและกัน อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคและอุตสาหกรรมโทรทัศน์ กสทช. ได้ออกประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุสำหรับกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลโดยมีการกำหนดช่วงการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลและระบบแอนะล็อกแบบคู่ขนาน (Simulcast) ให้สอดคล้องกับแผนความถี่วิทยุโทรทัศน์ของประเทศ พ.ศ. 2539 ซึ่งเป็นแผนความถี่วิทยุสำหรับกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบแอนะล็อกเดิม3.การจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการประกอบกิจการที่เกี่ยวข้อง
ที่ผ่านมา กสทช. ได้จัดทำประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการประกอบกิจการ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่โทรทัศน์ระบบดิจิตอล โดยสามารถสรุปหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาต ได้ดังแผนภาพในส่วนของการอนุญาตให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ได้มีการออกประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ โดยสำหรับกิจการที่ใช้คลื่นความถี่ได้มีการออกประกาศเพิ่มเติมคือ ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับการให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาต วิธีการขอรับใบอนุญาต หลักเกณฑ์ในการออกใบอนุญาต เอกสารหลักฐาน หรือข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้ในการอนุญาต วิธีการพิจารณาในการออกใบอนุญาต ระยะเวลาการพิจารณาอนุญาตและขอบเขตการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ดังกล่าว รวมทั้งเงื่อนไขอื่นที่จำเป็นสำหรับการใช้คลื่นความถี่ อีกทั้ง การออกประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์เพื่อประกอบกิจการทางธุรกิจ เพื่อให้ผู้ประสงค์จะขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ประเภทบริการทางธุรกิจ ได้ทราบล่วงหน้าเกี่ยวกับคลื่นความถี่ที่จะอนุญาตให้ใช้ หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกให้ใช้คลื่นความถี่ ตลอดจนเงื่อนไขอื่นที่จำเป็น รวมถึงการจัดทำประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ สำหรับการอนุญาตให้บริการโครงข่ายนั้น มีประกาศหลักที่เกี่ยวข้อง ซึ่งบังคับใช้แล้วจำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ซึ่งได้กำหนดขึ้นเพื่อให้ผู้ประสงค์จะประกอบกิจการได้ทราบล่วงหน้าเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาต วิธีการขอรับใบอนุญาต หลักเกณฑ์ในการออกใบอนุญาต เอกสารหลักฐานหรือข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้ในการอนุญาต วิธีการพิจารณาในการออกใบอนุญาต ระยะเวลา การพิจารณาอนุญาตและขอบเขตการอนุญาตให้ประกอบกิจการดังกล่าว รวมทั้งเงื่อนไขอื่นที่จำเป็นสำหรับการประกอบกิจการให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ และประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตเพิ่มเติมในส่วนการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ที่กำหนดวิธีการพิจารณาอนุญาตและสิทธิหน้าที่ของผู้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล โดยต้องขยายโครงข่ายให้สามารถครอบคลุมครัวเรือนทั้งประเทศนับจากวันที่ได้รับใบอนุญาตอย่างน้อย ดังนี้
ครอบคลุมครัวเรือน (ร้อยละ) ภายในระยะเวลา (ปี) 50 1 80 2 90 3 95 4 นอกจากนี้ ยังต้องจัดให้มีการแพร่สัญญาณเพื่อให้ผู้ใช้บริการในเขตเทศบาลเมืองขึ้นไปสามารถรับสัญญาณได้ในลักษณะการรับสัญญาณแบบพกพาภายในอาคาร (Portable Indoor Reception) ด้วย ในส่วนการดำเนินงานที่เกี่ยวกับการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์นั้น ที่ประชุม กสท. ครั้งที่ 23/2556 เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2556 มีมติเห็นชอบผลการวิเคราะห์ความเหมาะสมของการประกอบกิจการโทรทัศน์สำหรับการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลของกองทัพบก บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กรมประชาสัมพันธ์ และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) และเพื่อประโยชน์ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลของประเทศไทย และประโยชน์สาธารณะอื่นที่เกี่ยวข้อง จึงเห็นควรอนุญาตให้หน่วยงานดังกล่าวได้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล เป็นระยะเวลา 15 ปี นับตั้งแต่วันที่ กสท. มีมติ โดยได้กำหนดรายละเอียดและเงื่อนไขในการอนุญาตเพิ่มเติมเฉพาะรายของผู้ได้รับอนุญาต การกำหนดจำนวนและประเภทช่องรายการโทรทัศน์ระบบดิจิตอล ในเบื้องต้น ได้กำหนดช่องรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ทั้งหมด 48 ช่อง โดยแบ่งเป็น ช่องรายการบริการชุมชน 12 ช่อง (แต่ละเขตบริการ) ช่องรายการบริการสาธารณะ 12 ช่อง (ระดับชาติ) โดยช่องรายการทั้ง 2 ประเภทจะเป็นการให้ใบอนุญาตแบบใช้วิธีการคัดเลือก (Beauty Contest) และช่องรายการบริการทางธุรกิจ 24 ช่อง (ระดับชาติ) จะใช้วิธีคัดเลือกโดยวิธีการประมูลคลื่นความถี่ (Auction)ตามที่พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ได้กำหนดไว้ ทั้งนี้ ได้มีการแบ่งช่องรายการบริการทางธุรกิจออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ช่องรายการเด็ก เยาวชน และครอบครัว 3 ช่อง ช่องรายการข่าวสารและสาระ 7 ช่อง ช่องรายการทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (Standard Definition : SD) 7 ช่อง และช่องรายการทั่วไปแบบความคมชัดสูง (High Definition : HD) 7 ช่อง ประโยชน์ของโทรทัศน์ระบบดิจิตอล การปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบบโทรทัศน์ระบบดิจิตอล จะทำให้ประชาชนได้รับชมโทรทัศน์ด้วยคุณภาพสัญญาณที่ดีขึ้นทั้งในระบบ SD และ สามารถพัฒนาให้แพร่ภาพได้ในระบบความคมชัดสูง HD ปราศจากสัญญาณรบกวน ได้รับชมโทรทัศน์ด้วยอัตราส่วนภาพแบบ Widescreen คือสามารถรับชมภาพได้เต็มจอทีวีตามต้นฉบับ อีกทั้งการมีจำนวนช่องที่มากขึ้น และบริการที่หลากหลาย จะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชน จากที่มีเพียง 6 ช่อง เพิ่มมากขึ้นเป็น 48 ช่อง ซึ่งจะสามารถตอบสนองกับชีวิตสังคมสมัยใหม่ ที่มีความสัมพันธ์กับเทคโนโลยี และสื่อสังคม (Social Media) มากขึ้นเรื่อยๆ โทรทัศน์ระบบดิจิตอลยังสามารถรองรับบริการมัลติมีเดียใหม่ๆ ประชาชนจะสามารถรับบริการที่หลากหลายมากขึ้น เช่น บริการเสริมลักษณะโต้ตอบ (Interactive) เช่น VDO-on-Demand, ทีวีเคลื่อนที่ (Mobile TV), Smart TV และ Internet TV เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น ประชาชนจะมีโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากขึ้น สะดวกรวดเร็วขึ้นจากบริการใหม่ๆ อาทิ Data broadcasting, Emergency warnings ฯลฯ นอกจากนี้ จากการที่มีช่องรายการใหม่ๆ เพิ่มขึ้น จะก่อให้เกิดการแข่งขันสร้างรายการที่มีเนื้อหารายการที่น่าสนใจ เป็นประโยชน์ เป็นรายการที่มีคุณภาพ นำมาซึ่งการพัฒนาคุณภาพชีวิต และสังคมโดยรวมอีกด้วย ในด้านเศรษฐกิจ การปรับเปลี่ยนโทรทัศน์สู่ระบบดิจิตอล สามารถช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้โดยตรง โดยจะนำไปสู่การลงทุนโครงข่ายระบบดิจิตอล การผลิตอุปกรณ์เครื่องรับ และการพัฒนาอุตสาหกรรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น เนื้อหารายการ (Content) และบริการแบบใหม่ๆ (Interactive services) นำมาซึ่งการยอมรับจากต่างชาติ และความน่าสนใจในการลงทุนจากต่างประเทศ นอกจากนี้ โทรทัศน์ระบบดิจิตอลยังช่วยในการประหยัดพลังงานของประเทศ เนื่องจากเครื่องส่งและเครื่องรับโทรทัศน์ระบบดิจิตอลจะใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการส่งในระบบแอนะล็อก เดิม อีกทั้งยังเป็นการนำเอาทรัพยากรคลื่นความถี่ที่มีอยู่อย่างจำกัดไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย การเตรียมความพร้อมของประชาชนในยุคโทรทัศน์ระบบดิจิตอล เมื่อมีการเริ่มใช้การส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ระบบดิจิตอลแล้ว ประชาชนสามารถรับรายการต่างๆได้โดยไม่ต้องทำการเปลี่ยนโทรทัศน์ใหม่ เพียงใช้การติดตั้งกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิตอล/อุปกรณ์แปลงสัญญาณระบบดิจิตอล (Set-Top Box) เป็นอุปกรณ์เสริมเชื่อมต่อกับโทรทัศน์ที่มีอยู่เดิมก็จะทำให้สามารถรับสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ระบบดิจิตอลได้ หรืออาจเปลี่ยนไปใช้โทรทัศน์ที่สามารถรับสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ระบบดิจิตอลแบบ DVB-T2 ในตัวก็ได้ ทั้งนี้ กสทช. ได้มีแนวทางการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลอย่างทั่วถึงในรูปแบบการแจกจ่ายคูปองส่วนลดให้กับประชาชน โดยใช้เงินที่ได้จากการประมูลคลื่นความถี่เพื่ออนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ในการประกอบกิจการทางธุรกิจ และสนับสนุนให้มีการแจกจ่ายให้กับทุกครัวเรือนโดยเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว ประชาชนสามารถเลือกใช้คูปองที่ได้รับการแจกจ่ายเป็นส่วนลดในการจัดหาทั้งเครื่องรับโทรทัศน์ที่สามารถรับสัญญาณระบบดิจิตอล และอุปกรณ์แปลงสัญญาณระบบดิจิตอลเพื่อให้เครื่องรับโทรทัศน์แอนะล็อกเดิมสามารถรับสัญญาณได้ บทสรุป การดำเนินการเปลี่ยนผ่านไปสู่โทรทัศน์ระบบดิจิตอลในครั้งนี้ กสทช. ได้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ โดยทรัพยากรสื่อสารของชาติจะได้รับการจัดสรรอย่างโปร่งใส เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังคำนึงถึงการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม และให้มีการกระจายการใช้ประโยชน์โดยทั่วถึงในกิจการด้านต่างๆ ทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ ประโยชน์สาธารณะอื่น อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งผู้ประกอบการ ประชาชน และภาคส่วนต่างๆ มีการวางแผนนโยบายและกรอบระยะเวลาการดำเนินงานอย่างรอบคอบ โดยส่งกระทบต่อประชาชนในช่วงการเปลี่ยนผ่านให้น้อยที่สุด เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในกิจการโทรทัศน์ของประเทศในครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สำเร็จลุล่วงตามแผนการดำเนินการที่ได้วางเอาไว้ และจะนำไปสู่การพัฒนาในกิจการโทรทัศน์ของประเทศ เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถสื่อสารและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่หลากหลาย มีคุณภาพ อย่างเท่าเทียมและรู้เท่าทันมากยิ่งขึ้น